สมุนไพร และ อาหารที่สามารถช่วยรักษา ช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง เรามักนึกถึงความเหี่ยวแห้งจากการขาดฮอร์โมนในหญิงวัยหมดฤดู

ในปัจจุบัน การศึกษาทางการแพทย์พบว่า ภาวะ ช่องคลอดแห้ง พบได้บ่อยกว่านั้น แต่มักไม่ได้รับการรายงาน

โดยสาเหตุหลักเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เนื้อเยื่อช่องคลอดลดลง

พบว่าสามารถเกิดกับผู้หญิงได้ทุกวัยในช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อมีการขาดเอสโตรเจน โดยร้อยละ 50 พบในหญิงวัยหมดระดู

สารบัญ

อาการของภาวะช่องคลอดแห้งมีอะไรบ้าง

ช่องคลอดแห้ง

  • รู้สึกร้อนๆ แสบแห้ง ระคายเคืองในช่องคลอด
  • ขาดน้ำหล่อลื่น และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย รู้สึกร้อนๆ แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ช่องคลอดอักเสบ เป็นตกขาวบ่อย เป็นๆ หายๆ และหายยาก เนื่องจากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกติ
  • ช่องคลอดจะมีผิวชุ่ม หนาและมีลูกคลื่น พอเข้าวัยทองจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ผนังบาง ความยืดหยุ่นลดลง

เลือดมาเลี้ยงบริเวณช่องคลอดลดลง การหลั่งน้ำหล่อลื่นลดลง ภาวะความเป็นกรดลดลง กลายเป็นสภาวะด่างมากขึ้น

เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ร่วมกับเซลล์ที่ผนังช่องคลอดลอก ทำให้ช่องคลอดมีความเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่แบคทีเรียชนิดดี lactobacilli ที่คอยปกป้องช่องคลอดนั้นอยู่ไม่ได้

ทำให้มีการเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่ายและบ่อย

สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน

ช่องคลอดแห้ง

เมื่อผู้ป่วยมาตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน เราจะพบอาการดังนี้

ช่องคลอดมีสีซีด แห้ง อาจพบจุดเลือดออก ลูกคลื่นของช่องคลอดหายไป ปากมดลูกอาจแบนแนบไปกับช่องคลอด

หากต้องการวินิจฉัยชัดเจนขึ้น สามารถตรวจภาวะกรดด่าง จะพบความเป็นด่าง โดยค่า pH จะมากกว่าหรือเท่ากับ 4.6

เมื่อตรวจปัสสาวะ มักพบมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน (ในสตรีวัยหมดระดู เมื่อตรวจสุขภาพประจำปี ผลตรวจปัสสาวะมักมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน หากได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคของทางเดินปัสสาวะไปแล้ว ก็มักจะเป็นจากภาวะช่องคลอดแห้ง)

สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลงตามวัย ซึ่งในวัยก่อนหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ที่ 10-800 pg/ml ปริมาณแตกต่างตามระยะของรอบระดู

แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมักน้อยกว่า 30 pg/ml และแหล่งของเอสโตรเจนจะมาจากเอสโตรเจนชนิด E1 มากกว่า

ซึ่งถูกเปลี่ยนมาจากส่วนของไขมันที่สะสมบริเวณท้องแขน ต้นขา และพุงหรือหน้าท้อง
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยา ได้แก่

การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง ในบางรายส่งผลให้รังไข่ทำงานล้มเหลว เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และพบปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้งตามมา มีการเก็บข้อมูลพบปัญหานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่านการให้ยาเคมีบำบัด ร้อยละ 23-61

การให้ยาซึ่งมีกลไกต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่, ถุงน้ำช็อกโกแลตที่รังไข่ (เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งพบที่รังไข่), การฉีดยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด ซึ่งอาจพบปัญหาช่องคลอดแห้งตามมาได้

การวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ในช่องคลอด

ช่องคลอดแห้ง

การวินิจฉัยแยกโรคอื่นนอกจากภาวะช่องคลอดแห้ง จำเป็นต้องพิจารณาเสมอก่อนการให้การรักษา เนื่องจากรักษาแตกต่างกัน

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งอาจมีอาการแสบร้อน คัน ปัสสาวะขัดร่วมด้วย นอกจากการมีตกขาว

ระคายเคืองช่องคลอดจากการแพ้สบู่ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือชุดชั้นในที่สวมใส่ หรือแผ่นอนามัยผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด

ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งช่องคลอด ปากช่องคลอด ซึ่งจะมีอาการแห้ง คัน ระคายเคืองเรื้อรังได้ ดังนั้น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยก่อนเสมอ

การรักษาช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง

รักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
การรับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น เหมาะสำหรับกรณีรักษาอาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ผลทางคลินิกในการควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันกระดูกพรุน (ในกรณีไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน) แต่ได้ผลช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งไม่เต็มที่นัก ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยยังมีอาการช่องคลอดแห้งอยู่

การทายาฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอด ซึ่งเป็นเอสโตรเจนระดับฮอร์โมนน้อยๆ มีการศึกษาของสมาคมวัยทองแห่งสหรัฐอเมริกา The North American Menopause Society (NAMS) ปี ค.ศ. 2007 พบว่าได้ผลดีในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด ครีม วงแหวน สอดช่องคลอด

ในปัจจุบัน การใช้ฮอร์โมนแม้ในขนาดต่ำๆ ทาในช่องคลอด ก็มีการศึกษาพบว่าทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดเพิ่มด้วยเช่นกัน จึงต้องระมัดระวังในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจมีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังมีการศึกษาต่อเนื่องในการคิดค้นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงที่ช่องคลอด โดยไม่ส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ

รักษาด้วยการใช้สารให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ใช่ฮอร์โมน

หรือที่เราเรียกกันว่า moisturizer เหมือนกับการใช้moisturizer ที่ทาผิวแห้งตามร่างกาย มีทั้งรูปแบบน้ำ เจล หรือเม็ดสอดช่องคลอด ซึ่งสามารถใช้ได้ยาวนาน ไม่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน มีคุณสมบัติเคลือบปกป้องผิวช่องคลอดให้ชุ่มชื้น โดยใส่ในช่องคลอดทุกๆ 2-3 วัน

การใช้เจลหล่อลื่น

สำหรับกรณีปัญหาหลักอยู่ที่การเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถใช้เจลหล่อลื่น เฉพาะขณะมีกิจกรรม โดยทาบริเวณช่องคลอด ปากช่องคลอด หรืออวัยวะเพศชายก็ได้

การให้วิตามินกับอาหารเสริม

ยังไม่มีการศึกษาพิสูจน์ชัดเจนถึงการใช้ วิตามิน E และวิตามิน D ว่าได้ผลในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง

การใช้เลเซอร์ชนิด Fractional CO2

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ในการใช้เลเซอร์ในการรักษาแบบฟื้นฟู โดยเครื่องจะปล่อยแสงเลเซอร์ออกมาแบบ 360 องศา ไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสท์ ช่วยทำให้ผลิตและจัดเรียงเส้นใยคอลลาเจนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เซลล์ช่องคลอดผลิตสารคัดหลั่งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความชุ่มชื้นขึ้นตามมา ซึ่งสามารถทำเลเซอร์ได้โดยไม่เจ็บ ไม่ต้องดมยาสลบ และใช้เวลาไม่นาน หลังทำสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ

ปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง อาจฟังดูเหมือนผิวแห้ง แต่เมื่อเกิดบริเวณช่องคลอดแล้วจะส่งผลต่อหลายระบบ เนื่องจากผนังช่องคลอดรองรับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะด้วย จึงทำให้มีอาการทั้งแห้ง ระคายเคือง แสบร้อน ปัสสาวะขัด และรวมถึงกิจกรรมกับสามี ดังนั้น หากมีอาการควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรค และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การดูแลรักษาแบบองค์รวม

ดื่มน้ำให้มาก ทำให้เซลล์ร่างกายชุ่มชื้น
ลดความเครียดทั้งทางกายและจิตใจ
มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และแนะนำเลี่ยงการใช้ถุงยางที่มีสาร nonoxynol-9 เพราะเพิ่มความแห้งในช่องคลอด
ออกกำลังกาย และเพิ่มการบริหารบริเวณเชิงกรานเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดมาหล่อเลี้ยง
ทาน โพรไบโอติกส์ เช่น กิมจิ นัทโตะ เทมเป้ แอปเปิ้ลไซเดอร์เวนิกา ข้าวหมาก เป็นต้น เพราะสมดุลในทางเดินอาหารมีผลต่อในช่องคลอด เช่นกัน
ทานกลุ่มผัก ผลไม้ โดยเฉพาะที่มีกลุ่มไอโซฟลาโวน เช่น ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ขึ้นฉ่ายฝรั่งหรือเซเลอรี่ (Celery) แอปเปิล เชอรี่ น้ำมะพร้าวอ่อน เป็นต้น
งดสูบบุหรี่ ซึ่งสำคัญมากต่อสุขภาพโดยรวม